7.9.55

สัปดาห์ที่13

วันที่ 7 กันยายน 2555

การบูรณาการ
ผ่านกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม




                การบูรณาการถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งของการสอน รวมทั้งเป็นปรัชญาในการสอนที่นำเนื้อหาความรู้จากหลายวิชามาสัมพันธ์ที่จุดเดียวกัน (Focus) หรือหัวเรื่อง (Theme) เดียวกัน (วลัย พานิช, 2546: 44) ทั้งนี้ วรนาท รักสกุลไทย (2548: [6-8]) ได้สรุปความหมายของการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการไว้ว่าเป็นการจัดประสบการณ์ที่นำความรู้ ความคิดรวบยอด ทักษะ และประสบการณ์สำคัญทั้งมวลที่ผู้เรียนจะได้รับในสาระการเรียนรู้ต่างๆ มาเชื่อมโยงผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างมีความหมาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งเป็นการขจัดความซ้ำซ้อน ความไม่สัมพันธ์ และความไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระดับปฐมวัยศึกษา ซึ่งเน้นการพัฒนาโดยองค์รวม

        เมื่อพิจารณาความหมายของการบูรณาการจะเห็นได้ว่าความรู้ ความคิด และประสบการณ์สำคัญต่างๆ นั้นต่างมีความสัมพันธ์กัน และหน่วยย่อยที่สัมพันธ์กันเหล่านี้เกิดการผสมผสานหลอมรวมจนเกิดเอกลักษณ์ใหม่ที่มีความเป็นหนึ่งเดียว


        การจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยยึดหลักการบูรณาการที่ว่า หนึ่งแนวคิดเด็กสามารถเรียนรู้ได้หลายกิจกรรม หนึ่งกิจกรรมสามารถเรียนรู้ได้หลายทักษะและหลายประสบการณ์สำคัญ (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2547: 6) การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย ครูจึงควรศึกษาก่อนว่าทักษะ สาระการเรียนรู้ หรือประสบการณ์สำคัญใดที่จะจัดให้กับเด็ก แล้วจึงวางแผนการจัดกิจกรรมต่อไป

        ผู้เขียนขอเสนอตัวอย่างหนึ่งของการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการผ่านหัวเรื่อง "ปีเตอร์แพน" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เด็กๆ ให้ความสนใจ ดังนี้


        ที่ชั้นอนุบาล 2/1 โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ เด็กๆ ต่างชื่นชอบที่จะฟังนิทานเรื่องปีเตอร์แพน และจะขอให้ครูอ่านนิทานเรื่องนี้ให้ฟังอย่างต่อเนื่อง ครูจึงนำเรื่อง "ปีเตอร์แพน" มาเป็นหัวเรื่องในการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการโดยยึดตามกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมบูรณาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการจัดประสบการณ์ในระดับปฐมวัย ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา ดังตัวอย่างต่อไปนี้

กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
        เด็กๆ ได้ร้องเพลง คิดท่าประกอบเพลง ทำท่าประกอบเพลง ซึ่งเพลงที่นำมาใช้ประกอบ ด้วยเพลงเหาะไปบนฟ้า และเพลงปีเตอร์แพน ได้แปลงร่างเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่องปีเตอร์แพน และเคลื่อนไหวประกอบจังหวะตามลักษณะสำคัญของตัวละคร และได้ทำกิจกรรมตามผู้นำ (ผู้นำ
ผู้ตาม) โดยดัดแปลงมาจากตอนที่ตัวละครในเรื่องออกไปตามพวกอินเดียนแดง ฯลฯ

กิจกรรมเสริมประสบการณ์
        เด็กๆ ได้เล่นสมมติจากสถานการณ์ในเรื่อง เช่น ตอนทิงเกอร์เบลอิจฉาเวนดี้ เพื่อนำไปสู่การอภิปรายเรื่องการจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม หรือตอนเวนดี้ไม่ยอมเป็นพวกโจรสลัด เพื่อนำไปสู่การอภิปรายเรื่องการปฏิเสธที่จะทำผิดตามที่ผู้อื่นสั่งให้ทำ ได้เล่นสมมติเป็นอินเดียนแดงทดลองทำสิ่งต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องความสามัคคี นอกจากนี้ยังมีการเล่นละครสร้างสรรค์ 5 ฉากสำคัญ คือ เหาะไปบนฟ้า ตามผู้นำ ช่วยไทเกอร์ลิลลี่ ที่ซ่อนของปีเตอร์แพน และกลับบ้านกันโดยเด็กๆ จะต้องแบ่งหน้าที่กันทำ ด้นสดบทละคร และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ฯลฯ

กิจกรรมสร้างสรรค์
        เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมที่ให้เด็กเลือกทำเป็นรายบุคคล ได้แก่ พับหมวกปีเตอร์แพน ดัดลวดเพื่อทำปีกทิงเกอร์เบล วาดนางเงือก และตัดเพื่อนำไปไว้ที่ทะเลสาบนางเงือก พับจระเข้ตัวเล็ก ตัดรูปมือระบายสีเพื่อทำสายรุ้ง ตัดรูปดาวและปั๊มสีเพื่อทำดาวที่ลอนดอนยามค่ำคืน และทำสายคาดศีรษะของอินเดียนแดง ฯลฯ และได้ทำกิจกรรมศิลปะแบบร่วมมือ ได้แก่ การสร้างเนเวอร์แลนด์ซึ่งต้องทำดวงอาทิตย์ ก้อนเมฆ เรือโจรสลัด หินรูปหัวกะโหลก จระเข้ตัวใหญ่ และการสร้างลอนดอนซึ่งต้องทำภาพเมืองลอนดอนและหอนาฬิกา ฯลฯ

กิจกรรมเสรี
        เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องแสงและเงาผ่านการทำกิจกรรมวาดเงาของตัวละคร เรียนรู้ประโยชน์ของแสงจากการส่องไฟฉายหาตัวละครในกล่องปริศนา ได้เรียนรู้เรื่องเสียงผ่านการทำกลองของอินเดียนแดง ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของสสารผ่านการทำแพนเค้กรูปหน้าตัวละคร ได้เรียนรู้ภาษาผ่านตัวอักษรล่องหนของอินเดียนแดง ฯลฯ โดยครูจัดกิจกรรมเหล่านี้ตามความคิดของเด็กไว้เป็นตัวเลือกหนึ่งในกิจกรรมเสรี

กิจกรรมกลางแจ้ง
        เด็กๆ ได้เล่นเดินเป็นแถวตามจังหวะมาร์ช โดยร้องเพลงตามผู้นำไปในที่ต่างๆ ในโรงเรียน โดยเล่นสมมติเป็นพวกอินเดียนแดง เด็กๆ เล่นเครื่องเล่นสนามโดยสมมติว่าเครื่องเล่นแต่ละอย่างเป็นสถานที่ต่างๆ ในเรื่องปีเตอร์แพน ฯลฯ

กิจกรรมเกมการศึกษา
        เด็กๆ ได้เล่นเกมจับคู่คำศัพท์ทั้งคำศัพท์เกี่ยวกับฉาก และตัวละคร ในหลายๆ ลักษณะ เช่น ทอยลูกเต๋าแล้วหาบัตรคำศัพท์ นำบัตรคำศัพท์ไปวางคู่กับสิ่งของจริงๆ ที่เด็กสร้างขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งเกมอื่นๆ เช่น ลากเส้นหาทางออกให้ทิงเกอร์เบล ฯลฯ


        กิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นซึ่งให้เด็กได้ร้องและทำท่าทางประกอบเพลง เล่นสมมุติ เล่นละครสร้างสรรค์ สนทนาร่วมกัน ทดลอง สร้าง วาด พับ ทำศิลปะแบบร่วมมือ เล่นเกม หรือประกอบอาหาร ล้วนเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ทำให้เด็กกระตือรือร้นใฝ่รู้ใฝ่เรียน และเกิดแรงจูงใจในการเรียน เด็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ครบทุกด้าน รวมทั้งคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดการเรียนรู้ของตนด้วยการเลือกทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจ และความสามารถของตน ช่วยเกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งสาระการเรียนรู้ ทักษะ และประสบการณ์สำคัญ ช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการจำและการแก้ปัญหา และช่วยให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้

        อย่างไรก็ตามครูควรตระหนักถึงหลักสำคัญของการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ กล่าวคือความสอดคล้องเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสาระการเรียนรู้และทักษะต่างๆ

        การที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลายช่วยให้เกิดการตกผลึกทางความคิด และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ความรู้ที่ได้ไม่ลบเลือนไปโดยง่าย การนำสาระการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ที่ต้องการให้เด็กฝึกฝนมาเชื่อมโยงไว้ในการสอน การใช้แหล่งเรียนรู้รอบตัว สื่อมีความหลากหลายมีความเพียงพอกับความต้องการของเด็ก และการจัดกิจกรรมที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับกลุ่มเด็กและสภาพแวดล้อม โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่เด็กมากที่สุด



อ้างอิง :: ห้องเรียนครูเหมียว



_._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._._


อาจารย์นำสีและแผ่นประดิษฐ์ตัวอักษร
มาแจกให้นักศึกษา เพื่อเป็นกำลังใจในการทำสื่อการเรียน



ขอขอบพระคุณอาจารย์จินตนามากคะ ^^

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น