9.9.55

อบรมการเล่านิทาน




อบรมการเล่านิทาน




            การเล่านิทาน   มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่ผู้ฟัง   ฝึกผู้ฟังให้มีจินตนาการไปตามเรื่องที่ฟัง  การสอดแทรกข้อคิด คติธรรม หรือเรื่องราวใด ๆ แฝงเข้าไปในเรื่อง จะทำให้ผู้ฟังซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว  การเล่านิทานจึงเป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบมาก จึงเป็นการกระตุ้นเร้าให้เด็กรักการอ่าน และเป็นการปลูกฝังความรัก  ความซาบซึ้งในวรรณกรรมและวรรณคดีต่าง ๆ     ในปัจจุบันครูและบรรณารักษ์จึงใช้การเล่านิทานเป็นกิจกรรมประกอบการสอนและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน แต่การเล่านิทานที่จะสร้างความเพลิดเพลินหรือความประทับใจในเรื่องให้ผู้ฟังติดตามเรื่องไปจนจบอย่างไม่รู้เบื่อนั้น ผู้เล่าจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการเล่านิทานและเทคนิคในการเล่าอย่างเหมาะสม

เทคนิคการเล่านิทาน
                การเล่านิทานไม่ว่า จะเล่าในรูปแบบใด ผู้เล่าจำเป็นจะต้องใช้ศิลป์หรือเทคนิคในการเล่าเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือสร้างความสนุกสนานกับผู้ฟัง ดังนี้

1.  เลือกนิทาน/เลือกเรื่อง
                การเลือกนิทานควรเลือกให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟัง ทั้งด้านจำนวน วัย และเพศ ทั้งนี้เพราะผู้ฟังแต่ละวัย (แต่ละกลุ่ม) จะมีความสนใจในเรื่องที่ฟังต่าง ๆ กัน ระยะเวลา (ช่วงความสนใจสั้น-ยาว) ต่างกัน การรับรู้เรื่องราวที่มีความซับซ้อน หรือมีการใช้คำศัพท์ที่ยากง่ายต่างกัน  นอกจากนี้ความรู้หรือข้อคิดที่ได้จะแตกต่างกันไปตามเนื้อเรื่องของนิทานที่จะนำมาเล่าด้วย  ด้วยเหตุนี้การเลือกเรื่อง/เลือกนิทานที่จะนำมาเล่าจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก
                การเลือกเรื่องที่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจหรือเรื่องขำขัน จะสร้างความพอใจให้กับผู้ฟัง และผู้เล่าด้วย เรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงคือเรื่องที่หวาดเสียว  หยาบโลน เข้าใจยาก อืดอาดและไม่สร้างสรรค์     นอกจากนี้การเลือกเรื่องจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับวิธีการเล่า ตลอดจนความพร้อม ความสามารถ หรือความถนัดของผู้เล่าด้วย

2 . ฝึกฝน ความแม่นยำในเรื่องที่จะเล่า
                แม้ว่าการเล่านิทานจะไม่จำเป็นต้องท่องจำถ้อยคำต่าง ๆ ทุกถ้อยคำในนิทานจนขึ้นใจ แต่จำเป็นจะต้องจำเกี่ยวกับการลำดับเรื่อง อารมณ์ของเรื่อง และใจความสำคัญของเรื่อง เพื่อให้สามารถเล่าเรื่องได้อย่างต่อเนื่อง     ในกรณีที่ผู้เล่าไม่มีเวลาท่องจำเรื่องราวสำคัญ อาจใช้บัตรบันทึกคำสำคัญเพื่อเตือนความจำก็ได้ 

3.  การใช้เสียงและท่าทางประกอบการเล่านิทาน
                การเล่านิทานควรใช้เสียงที่เป็นธรรมชาติ มีชีวิต ชีวา (ไม่แผ่วเบา แหลมแปร๋น  สั่นเครือ รัวเร็วจนฟังไม่ทัน หรือช้าเนิบนาบจนน่าเบื่อเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจในการเล่า การเปลี่ยนเสียงตามตัวละครแต่ละตัวไม่ใช่สิ่งจำเป็น  แต่ถ้าผู้เล่าคนใดสามารถทำได้โดยไม่ขัดเขินก็จะนำนิทานเรื่องนั้นสนุกสนานมากยิ่งขึ้น  การใช้สีหน้า แววตา ประกอบอารมณ์ตามเหตุการณ์ ควรเป็นไปตามธรรมชาติ ในบางครั้งอาจใช้มือ การเน้นเสียง หรือทำตาลุกวาว ประกอบเรื่องที่ตื่นเต้นได้บ้างแต่ไม่ควรให้มากเกินไป

4.   การฝึกซ้อม
                  เพื่อความแม่นยำในเรื่องที่เล่า  การใช้น้ำเสียง ภาษา ท่าทางหรือการใช้อุปกรณ์ประกอบอย่างไม่ขัดเขิน  ผู้เล่าควรมีการฝึกซ้อมการเล่าให้คล่องแคล่ว


อ้างอิง :: home.kku.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น